วันมะเร็งโลก

 

4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก ของทุกปี สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control, UICC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ได้กำหนดให้เป็น "วันมะเร็งโลก" หรือ "World Cancer Day" เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของโรคมะเร็ง

ทำไมเราถึงเป็นมะเร็ง?  มะเร็งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่เจริญเติบโตผิดปกติ อาจมีรูปร่างผิดแปลกไป ผิดเซลล์จำนวนมากเกินไป และบางเซลล์อาจทำลายเซลล์อื่นๆ แบบที่ไม่มีอันตรายคือเนื้องอกธรรมดา ที่เราสามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้ หากเป็นอันตรายเราก็จะเรียกว่า เซลล์มะเร็ง

สาเหตุของโรคมะเร็ง   ผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และยังรักษาให้หายขาดได้ยาก เพราะกว่าผู้ป่วยจะทราบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็ง บางครั้งก็เลยมาจนถึงระยะท้ายๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่ทันการ จึงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทยมาตลอด ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งมีทั้งจาก


ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น พันธุกรรม

ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น จากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต

1. ทานอาหารสุกๆ ดิบๆ

2. ทานอาหารที่มีปริมาณไขมันมากเกินไป

3. สูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่ เช่น เพื่อนๆ สูบ

4. ทานอาหารที่ขึ้นรา หรือเน่าเสีย

5. รับแสงแดดที่แรงมากเกินไป โดยเฉพาะเวลา 9.00-17.00 น.

6. ที่อยู่อาศัยอยู่ในแหล่งมลพิษทางอากาศ เช่น ใกล้ถนนใหญ่ใจกลางเมืองกรุงเทพ

7. ทานอาหารดอง อาหารแปรรูป เช่นผักดอง ปูเค็ม

8. ทานอาหารไหม้เกรียม เช่น เนื้อย่าง กุ้งเผา

9. ใช้ยาคุมกำเนิด (ทั้งชนิดทานและฉีด) ติดต่อกันมากกว่า 5 ปี

10. ทานอาหารที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนสารเคมี

11. เคยมีอาการติดเชื้ออย่างเรื้อรัง

12. น้ำหนักเกินมาตรฐาน

ผู้ชาย จะพบมะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมากมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มากที่สุด

ผู้หญิง จะพบมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งรังไข่ มากที่สุด

 

 รู้ก่อนรักษาก่อน

 

          ความซับซ้อนของโรคมะเร็ง ทำให้แม้เราจะใส่ใจดูแลสุขภาพเต็มที่ โอกาสที่จะเผชิญกับโรคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นตามวัยอยู่ดี และเนื่องจากโรคมะเร็งก็เหมือนโรคอื่น ๆ ที่ยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งรักษาง่าย จึงมีการพัฒนาวิธีตรวจคัดกรองสำหรับมะเร็งที่พบได้บ่อยขึ้นมา การตรวจเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ทั้งยังมีใช้การอย่างแพร่หลาย เพียงแต่มีการกำหนดให้เหมาะกับช่วงวัยยกตัวอย่างเช่น

 

- การทำแมมโมแกรม (mammogram) เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม แนะนำให้ตรวจในสตรีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (หรือเร็วกว่านั้น หากมีประวัติในครอบครัว) และตรวจทุกปีเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป

 - การเอกซ์เรย์ปอด เพื่อคัดกรองมะเร็งปอด แนะนำเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจร่างกายประจำปี เนื่องจากคัดกรองวัณโรคปอดได้ด้วย

 - การตรวจแปปสเม๊ยร์และเชื้อไวรัส HPV เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้ตรวจทุกห้าปีในสตรีที่มีอายุ 30 – 65 ปี

 - การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แนะนำให้ตรวจทั้งในหญิงและชายตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป

 - การเจาะเลือดวัดค่า PSA เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก แนะนำให้เริ่มพิจารณาตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป

 นอกจากนี้ เราก็ยังควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเองให้ดี หากพบสิ่งผิดปกติ ไม่ว่าจะคลำพบก้อน พบไฝหรือขี้แมลงวันที่โตผิดปกติ หรือการขับถ่ายต่างไปจากเดิม ก็ต้องพบแพทย์โดยเร็ว

 

วิธีรักษามะเร็ง

ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ และสุขภาพของผู้ป่วยเอง ว่าวิธีใดที่จะเหมาะสมที่สุด และให้ผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด มีตั้งแต่

- ผ่าตัด

- ฉายแสง

- เคมีบำบัด

- ให้ฮอร์โมน   และอื่นๆ

ทั้งนี้ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา ก็ช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้มากเลยทีเดียวค่ะ



ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Sanook และ รพ.บำรุงราษฎร์